วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

อีกเว็บไซต์ หนึ่งที่น่าสนใจ ทั้งสำหรับคุณครูและนักเรียน ที่รักการเรียนรู้ ลองเข้าไปดูกันนะครับ

เมื่อคืนมีเวลาท่องเว็บ ได้พบเห็นเว็บไซต์หนึ่ง น่าสนใจมากสำหรับทั้งคุณครู และนักเรียน ที่รักการเรียนรู้ด้วยตนเอง ลองมาดูหน้าตาของเว็บไซต์ดังกล่าวก่อน ก็ได้ 
 ในหน้าแรกจะเห็นว่ามี รูปภาพที่เป็นลิงค์ไปสู่เนื้อหาวิชาของทุกกลุ่มสาระ
 ถัดลงมาก็จะเป็น E-Magazine เนื้อหาเป็นความรู้ และบันเทิง ที่อ่านง่ายได้สาระ
ถัดลงไปอีกจะมี เนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต และความรู้รอบตัวที่น่าสนใจทีเดียว เห็นกันแล้ว คงอยากจะเข้าไปพบกับหน้าต่างของเว็บไซต์ดังแล้ว ใช่ใหมครับ เช่นนั้นก็ไปกันเลย LINK นี้เลยครับ http://www.sahavicha.com/

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

คณิตคิดสนุกต้องแบบนี้ ซิ สนุกแน่ สนุกอย่างไรมาลองกันเลย พี่น้อง


ตรงนี้ของ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6  เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิชาคณิตศาสตร์ ที่ไม่น่าเบื่อ ขอบอก เรื่องแรกเป็นเรื่องการคูณเศษส่วนที่หลายๆคนบอกว่ายาก แต่มันจะไม่ยากอีกแล้วถ้านักเรียน เรียนรู้ด้วย :::สื่อบทเรียนออนไลน์ คณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณเศษส่วน ระดับชั้น ป.5 ที่สร้างขึ้นโดยคุณครูอุเทน กาญวิจิตร โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย เอ้ามาลองเข้าไปเรียนรู้กันเลย จาก LINK นี้ครับ

ส่วนเรื่องที่  2 เป็นเรื่องสมการกับการแก้สมการ สำหรับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยการเรียนรู้จาก:::สื่อบทเรียนออนไลน์ คณิตศาสตร์ เรื่อง สมการและการแก้สมการ ระดับชั้น ป.6 โดยครูสิทธิชัย ทิพย์สิงห์ โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม::: จาก LINK นี้ครับ

สำหรับตรงนี้ต้องขอแสดงความขอบคุณ คุณครูอุเทน กาญวิจิตร จากโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย และคุณครูสิทธิชัย ทิพย์สิงห์ จากโรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม มา ณ โอกาสนี้ด้วยที่กรุณาสร้างสื่อดีๆให้นักเรียนทั่วประเทศได้เรียนรู้กัน และขออนุญาตนำสื่อของคุณครูทั้งสองมาเผยแพร่ต่อที่โรงเรียนอนุบาลราชบุรี ด้วยนะครับ (ผม....นายธำรงค์  พานิชเจริญ ผู้นำมาเผยแพร่ต่อครับ ขอขอบคุณอีกครั้งครับ)

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

เอาขุมทรัพย์ความรู้ มาฝากคุณครูทุกท่านครับ (เป็นขุมทรัพย์ใกล้บ้านเราเองเสียด้วยซี)


คลังความรู้ของครู และผู้ใฝ่เรียนอยู่ที่นี่เอง ขุมมหาสมบัติทางความรู้จริงๆ คุณครู, นักเรียน, และผู้รักการเรียนรู้ทุกท่านครับ Kru Thumrong.Pa ขอนำเสนอเว็บไซต์ ที่เป็นที่รวมขององค์ความรู้เกือบทุกแขนงไว้ในเว็บไซต์เดียวกัน คลิก Link ข้างล่าง นี้เลยครับ

เป็นเว็บไซต์ของ สถาบัน กศน. ภาคกลาง ของเรานี่เอง นอกจากจะมีความรู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านเว็บโดยตรงแล้ว ยังสามารถสมัครเป็นสมาชิกเพื่อขอรับสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบ CAI หรือ VCD ได้ฟรีอีกด้วย (มีสื่อดิจิตัล ให้ขอฟรีหลากหลายสาขาวิชามาก) น่าสนใจไหมล่ะครับ ถ้าสนใจก็คลิก Link เข้าไปเยี่ยมชมกันเลยครับ แล้วจะได้อะไรๆ ดีๆ อีกมากมาย ครับ

วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

มาสร้างหนังสือ E-book แล้ว On line กันเถอะ


OK มีโอกาสมาแนะนำเว็บไซต์น่าสนใจกันอีกแล้ว วันนี้ขอแนะนำเว็บไซต์สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะสร้าง E-book ด้วยตนเอง ด้วยโปรแกรม Desk Top Author 4 ใครสนใจก็ลองเข้าไปที่ Link ข้างล่างได้เลย
ส่วนหน้าตาของเว็บไซต์ก็จะเป็นเนื้อหาแบ่งเป็นตอนๆ ศึกษาง่าย ศึกษาแล้วทำตามได้เลยลองดูหน้าตาก่อนแล้วกัน
ส่วนตัวโปรแกรม มีแบบทดลองใช้ 30 วัน ให้ดาวน์โหลดฟรี อยู่หลายเว็บ เช่น จาก Link ข้างล่างนี้ก็มีให้ดาวน์โหลด
หลังจากทดลองทำจนคล่องแล้วค่อยลงทุนหาซื้อตัวเต็มมาใช้งาน ก็น่าจะคุ้ม   ก็ลองเข้าไปศึกษากันดูนะครับ เพื่อโรงเรียนจะได้มีคนสร้าง E-book ดีๆ สำหรับนักเรียนเพิ่มขึ้น โชคดีทุกๆ คนครับ

มาเรียนรู้เกี่ยวกับโลกของเราและจักรวาลกันดีกว่า


กลับมาพบกันอีกแล้ว สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับ จักรวาลวิทยา, ดาราศาสาตร์, ระบบสุริยจักวาล, หรืออะไรต่ออะไรที่เกี่ยวกับโลกของเราและดวงดาว Kru Thumrong.Pa อยากชวนมาเข้าเว็บไซต์นี้เลย รับรองไม่ผิดหวัง เพราะมีอะไรให้รู้เยอะมา ดูแล้วอ่านแล้วจะกลายเป็นคนทันสมัย เป็นคนฉลาดขึ้นแบบคาดไม่ถึงทีเดียว อย่าช้า ไปเลย คลิก Link ข้างล่างนี้เลย
วันนี้ไม่มีภาพประกอบเพราะอยากให้เข้าเห็นเอง แล้วต้องร้องว่า ว้าว! มันยอดมาก ไม่เชื่อลองดิ

มาอ่านการ์ตูน E-Book เรื่องระบบสุริยะกันดีกว่า


สวัสดีครับ คุณครู และนักเรียนที่รักทุกคน วันนี้  Kru Thumrong.Pa มีเว็บไซต์น่าสนใจเกี่ยวกับระบบสุริยะ เป็น E-Book มีภาพประกอบสีสี พร้อมเสียงบรรยาย มีวัตถุประสงค์การเรียนรู้ พร้อมแบบทดสอบความรู้ ก่อนเรียน หลังเรียน น่าสนใจมาก ใครสนใจก็ลองคลิก Link ข้างล่างนี้ได้เลย
หน้าตาของ E-Book จะเป็นแบบภาพประกอบข้างล่าง ครับ    









 อย่าลืมเข้าไปศึกษาหาความรู้แบบสนุกสนานกันนะครับ แล้วจะหาเว็บไซต์ หนุกๆ แบบนี้มาแนะนำอีก วันนี้สวัสดีครับ

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

มาพูดภาษาอังกฤษกันดีกว่า

วันนี้วันที่ 6 มกราคม 2555 มีเวลาพอที่จะเข้าไปค้นคว้าหาเว็บไซต์ดีๆมานำเสนอเพื่อนครู และนักเรียนทุกคนที่สนใจเข้าไปเรียนรู้การสนทนาภาษาอังกฤษที่ http://www.englishspeak.com/th รูปแบบของเว็บไซต์น่าสนใจมาก ง่ายต่อการเรียนรู้เพราะมีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคลิบเสียงที่สามารถพูดตามได้ตรงกับการออกเสียงของเจ้าของภาษา




ใครสนใจก็ลองเข้าไปศึกษาฝึกฝนเอาเองนะครับ เรื่องอย่างนี้แต่ละบุคคลต้องสนใจใฝ่รู้เอาเอง ต้องมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ในตนเอง จึงจะประสบความสำเร็จนะครับพี่น้อง สำหรับคุณครูผมว่า เว็บไซต์นี้เหมาะที่คุณครูจะใช้เสริมในการจัดการเรียนการสอนนะครับ ว่ามั้ย?

การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ ที่นักการศึกษาควรคำนึงถึงมากกว่าการสร้างห้องพิเศษที่ไม่เอื้อต่อธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียน


       การเรียนแบบร่วมมือเป็นวิธีหนึ่งที่ส่งเสริมให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้แบบมีส่วนร่วมซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงได้รับการฝึกฝนทักษะกระบวนการแสวงหาความรู้ ทักษะการบันทึกความรู้ ทักษะการคิด ทักษะการจัดการกับความรู้ ทักษะการแสดงออกทักษะการสร้างความรู้ใหม่และทักษะการทำงานเป็นกลุ่มจัดว่าเป็นวิธีเรียนที่สามารถนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้อีกวิธีหนึ่ง จึงนับว่าเป็นวิธีเรียนที่ควรนำมาใช้ได้ดีกับการเรียนการสอนปัจจุบันเพื่อให้การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
 ความหมายของการเรียนแบบร่วมมือ
            มีนักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของการเรียนแบบร่วมมือ ดังนี้
            อาร์ซท และนิวแมน (Artzt and newman. 1990 : 448 – 449) กล่าวว่า การเรียนแบบร่วมมือเป็นวิธีที่ผู้เรียนทำการแก้ปัญหาร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ  สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีความสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของกลุ่ม เพื่อบรรลุเป้าหมายสมาชิกทุกคนจึงช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้เกิดการเรียนรู้และแก้ปัญหาครูไม่ใช้เป็นแหล่งความรู้ที่คอยป้อนแก่นักเรียน แต่จะมีบทบาทเป็นผู้คอยให้ความช่วยเหลือจัดหาและชี้แนะแหล่งข้อมูลในการเรียนตัวนักเรียนเองจะเป็นแหล่งความรู้ซึ่งกันและกันในกระบวนการเรียนรู้
            จอห์นสัน และจอห์นสัน (Johnson and Johnson. 1991 : 6-7)  กล่าวว่า  การเรียนแบบร่วมมือเป็นการเรียนที่จัดขึ้นโดยการคละกันระหว่างนักเรียนที่มีความสามารถต่างกันนักเรียนทำงานร่วมกันและช่วยเหลือกันเพื่อให้กลุ่มของตนประสบผลสำเร็จในการเรียน
            สลาวิน (Slavin. 1995 : 2 – 7) ได้ให้ความหมายว่า การเรียนแบบร่วมมือเป็นวิธีสอนที่นำไปประยุกต์ใช้ได้หลายวิชาและหลายระดับชั้น  โดยแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยโดยทั่วไปมีสมาชิก 4  คน  ที่มีความสามารถแตกต่างกันเป็นนักเรียนเก่ง 1 คน  ปานกลาง  2  คน  และอ่อน 1 คน นักเรียนในกลุ่มที่ต้องเรียนและรับผิดชอบงานกลุ่มร่วมกัน นักเรียนจะประสบผลสำเร็จก็ต่อเมื่อเพื่อนสมาชิกในกลุ่มทุกคนประสบผลสำเร็จบรรลุเป้าหมายร่วมกัน จึงทำให้นักเรียนช่วยเหลือพึ่งพากัน  และสมาชิกในกลุ่มจะได้รับรางวัลร่วมกัน เมื่อกลุ่มทำคะแนนได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้
            วัฒนาพร  ระงับทุกข์ (2542 : 34) กล่าวว่า การเรียนแบบร่วมมือ หมายถึง วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้แก่นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่ละกลุ่มประกอบด้วยสมาชิกที่มีความรู้ความสามารถแตกต่างกัน โดยที่แต่ละคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการเรียนรู้และในความสำเร็จของกลุ่ม ทั้งโดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การแบ่งปันทรัพยากรการเรียนรู้ รวมทั้งการเป็นกำลังใจแก่กันและกัน คนที่เรียนเก่งจะช่วยเหลือคนที่อ่อนกว่าสมาชิกในกลุ่มไม่เพียงแต่รับผิดชอบต่อการเรียนของตนเองเท่านั้น หากแต่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของเพื่อนสมาชิกทุกคนในกลุ่ม
            พิมพ์พันธ์  เดชะคุปต์ (2544 : 6) กล่าวว่า การเรียนแบบร่วมมือ หมายถึง วิธีสอนแบบหนึ่ง โดยกำหนดให้นักเรียนที่มีความสามารถต่างกันทำงานพร้อมกันเป็นกลุ่มขนาดเล็กโดยทุกคนมีความรับผิดชอบงานของตนเอง และงานส่วนรวมร่วมกันมีปฏิสัมพันธ์กันและกันมีทักษะการทำงานกลุ่ม เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย ส่งผลให้เกิดความพอใจอันเป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่มร่วมมือ
            จากความหมายของการเรียนแบบร่วมมือข้างต้น สรุปได้ว่า การเรียนแบบร่วมมือ เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่นักเรียนมีความสามารถแตกต่างกันโดยแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในการเรียนร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งนักเรียนจะบรรลุถึงเป้าหมายของการเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกคนอื่น ๆ ในกลุ่มไปถึงเป้าหมายเช่นเดียวกัน ความสำเร็จของตนเองก็คือความสำเร็จของกลุ่มด้วย
ลักษณะการเรียนแบบร่วมมือ
            มีนักการศึกษาทั้งต่างประเทศและในประเทศกล่าวถึงลักษณะของการเรียนแบบร่วมมือไว้ดังนี้
            จอห์นสัน และจอห์นสัน (Johnson and Johnson. 1991 : 10-15) กล่าวถึงลักษณะสำคัญของการเรียนแบบร่วมมือ ไว้ 5 ประการ ดังนี้
            1. การสร้างความรู้สึกพึ่งพากันทางบวกให้เกิดขึ้นในกลุ่มนักเรียน (Positive interdependence)วิธีการที่ทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกพึ่งพากันจะต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีการพึ่งพากันในด้านการได้รับประโยชน์จากความสำเร็จของกลุ่มร่วมกัน เช่น รางวัลหรือคะแนน  และพึ่งพากันในด้านกระบวนการทำงานเพื่อให้งานกลุ่มสามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายโดยมีการกำหนดบทบาทของแต่ละคนที่เท่าเทียมกันและสัมพันธ์ต่อกันจึงจะทำให้งานสำเร็จ  และการแบ่งงานให้นักเรียนแต่ละคนในกลุ่มให้มีลักษณะที่ต่อเนื่องกัน   ถ้าขาดสมาชิกคนใดจะทำให้งานดำเนินต่อไปไม่ได้
            2. การมีปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริมกันระหว่างนักเรียน (Face-to-face promotive interaction) คือ  นักเรียนในแต่ละกลุ่มจะมีการอภิปราย  อธิบาย  ซักถาม  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน    เพื่อให้สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มเกิดการเรียนรู้  และการเรียนรู้เหตุผลซึ่งกันและกัน  ให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับการทำงานของตน   สมาชิกในกลุ่มมีการช่วยเหลือ สนับสนุน กระตุ้น ส่งเสริมและให้กำลังใจกัน  และกันในการทำงานและการเรียนเพื่อให้ประสบผลสำเร็จบรรลุเป้าหมายของกลุ่ม
            3. ความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละบุคคล (Individual  accountability) คือ ความรับผิดชอบในการเรียนรู้ของสมาชิกแต่ละคนโดยต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ  ต้องรับผิดชอบในผลการเรียนของตนเองและของเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม  ทุกคนในกลุ่มจะรู้ว่าใครต้องการความช่วยเหลือ  ส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องใด  มีการกระตุ้นกันและกันให้ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สมบูรณ์  มีการตรวจสอบ  เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนเกิดการเรียนรู้เป็นรายบุคคลหรือไม่โดยสมาชิกทุกคนในกลุ่มต้องมีความมั่นใจ  และพร้อมที่จะได้รับการทดสอบเป็นรายบุคคลเพื่อเป็นการประกันว่าสมาชิกทุกคนในกลุ่มมีความรับผิดชอบร่วมกันกับกลุ่ม
            4. ทักษะระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย (Interpersonal and small group skills) การทำงานกลุ่มย่อยจะต้องได้รับการฝึกฝนทักษะทางสังคมและทักษะในการทำงานกลุ่ม เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข   ดังนั้นนักเรียนควรจะต้องทำความรู้จักกัน เรียนรู้ลักษณะนิสัยและสร้างความไว้วางใจต่อกันและกัน รับฟังและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างมีเหตุผล รู้จักติดต่อสื่อสาร และสามารถตัดสินใจแก้ปัญหา ข้อขัดแย้งในการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
            5. กระบวนการกลุ่ม (Group process) เป็นกระบวนการทำงานที่มีขั้นตอนหรือวิธีการที่จะช่วยให้การดำเนินงานของกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายได้  โดยสมาชิกกลุ่มต้องทำความเข้าใจในเป้าหมายการทำงาน วางแผนปฏิบัติงานและดำเนินงานตามแผนร่วมกัน  และที่สำคัญจะต้องมีการประเมินผลงานของกลุ่ม  ประเมินกระบวนการทำงานกลุ่ม  ประเมินบทบาทของสมาชิกว่า  สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มสามารถปรับปรุงการทำงานของตนให้ดีขึ้นได้อย่างไร  สมาชิกทุกคนในกลุ่มช่วยกันแสดงความคิดเห็น และตัดสินใจว่าควรมีการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงอะไร  และอย่างไรดังนั้นกระบวนการกลุ่มจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของกลุ่ม
            คาแกน (Kagan. 1994 : 1-11) ได้กล่าวถึงลักษณะสำคัญของการเรียนแบบร่วมมือว่าต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจนโดยมีแนวคิดสำคัญ  6  ประการ สรุปได้ดังนี้
            1. เป็นกลุ่ม (Team) ซึ่งเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ประมาณ 2-6 คน เปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน ภายในกลุ่มประกอบด้วยสมาชิกที่แตกต่างกัน
            2. มีความตั้งใจ (Willing) เป็นความตั้งใจที่ร่วมมือในการเรียนและทำงาน โดยช่วยเหลือกันและกัน มีการยอมรับซึ่งกันและกัน
            3. มีการจัดการ (Management) การจัดการเพื่อให้การทำงานกลุ่มเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
            4. มีทักษะ (Skills) เป็นทักษะทางสังคมรวมทั้งทักษะการสื่อความหมาย การช่วยสอนและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  ซึ่งทักษะเหล่านี้จะช่วยให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
            5. มีหลักการสำคัญ 4 ประการ (Basic principles) เป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นการเรียนเป็นกลุ่มหรือการเรียนแบบร่วมมือ  การเรียนแบบร่วมมือต้องมีหลักการ 4 ประการ ดังนี้
                    1) การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเชิงบวก (Positive interdependence) การช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกันเพื่อสู้ความสำเร็จและตระหนักว่าความสำเร็จของแต่ละคนคือความสำเร็จของกลุ่ม
                    2) ความรับผิดชอบรายบุคคล (Individual accountability) ทุกคนในกลุ่มมีบทบาทหน้าที่   ความรับผิดชอบในการค้นคว้าทำงาน  สมาชิกทุกคนต้องเรียนรู้ในสิ่งที่เรียนเหมือนกันจึงถือว่าเป็นความสำเร็จของกลุ่ม
                    3) ความเท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วม (Equal participation) ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการทำงาน ซึ่งทำได้โดยกำหนดบทบาทของแต่ละคน
                    4) การมีปฏิสัมพันธ์ไปพร้อม ๆ กัน (Simultaneous interaction) สมาชิกทุกคนจะทำงาน     คิด อ่าน ฟัง ฯลฯ  ไปพร้อม ๆ กัน
            6. มีเทคนิคหรือรูปแบบการจัดกิจกรรม (Structures) รูปแบบการจัดกิจกรรมหรือเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือเป็นสิ่งที่ใช้เป็นคำสั่งให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน  เทคนิคต่าง ๆ จะต้องเลือกใช้ให้ตรงกับเป้าหมายที่ต้องการแต่ละเทคนิคนั้นออกแบบได้เหมาะกับเป้าหมายที่ต่างกัน
            คลีย์ (Kley. 1991 อ้างถึงใน วรรณทิพา  รอดแรงค้า. 2540: 101) นอกจากองค์ประกอบนี้แล้วยังมีลักษณะอื่นที่สามารถบ่งบอกให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างการเรียนแบบร่วมมือกับการเรียนเป็นกลุ่มแบบเดิม    ซึ่งเสนอไว้ดังตารางที่ 2.1
ตารางที่ 2.1 การเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการเรียนเป็นกลุ่มแบบเดิมกับการเรียนแบบร่วมมือ
การเรียนแบบร่วมมือ
( Cooperative  Learning )
การเรียนแบบดั้งเดิม
( Traditional  Learning )
1. มีการพึ่งพาอาศัยกับภายในกลุ่ม 
2. สมาชิกเอาใจใส่รับผิดชอบต่อตนเอง
3. สมาชิกมีความสามารถแตกต่างกัน           
4. สมาชิกผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้นำ  
5. รับผิดชอบร่วมกัน         
6. เน้นผลงานของกลุ่ม     
7. สอนทักษะทางสังคม   
8. ครูคอยสังเกตและแนะนำ           
9. สมาชิกกลุ่มมีกระบวนการทำงานเพื่อ
    ประสิทธิผลของกลุ่ม    
1. ขาดการพึ่งพากันระหว่างสมาชิก
2. สมาชิกขาดความรับผิดชอบในตนเอง
3. สมาชิกมีความสามารถเท่าเทียมกัน
4. มีผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งเพียงคนเดียว
5. รับผิดชอบเฉพาะตนเอง
6. เน้นผลงานของตนเองเพียงคนเดียว
7. ไม่เน้นทักษะทางสังคม
8. ครูขาดความสนใจ  หน้าที่ของกลุ่ม
9. ขาดกระบวนการในการทำงานกลุ่ม
          ที่มา : คลีย์ (Kley.  1991, อ้างถึงใน  วรรณทิพา  รอดแรงค้า  2540 : 101)             
            สลาวิน ( Slavin.  1995  :  12-111 ได้กล่าวถึงลักษณะสำคัญของการเรียนแบบร่วมมือไว้  6  ประการ  ดังนี้
                    1.  เป้าหมายของกลุ่ม  ( Group  goals )  หมายถึงกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกันคือ  การยอมรับผลงานของกลุ่ม                                         
                    2.  การรับผิดชอบเป็นบุคคล (Indidual  accountability ) หมายถึง  ความสำเร็จของกลุ่ม  ซึ่งขึ้นกับผลการเรียนรู้รายบุคคลของสมาชิกในกลุ่ม และงานพิเศษที่ได้รับผิดชอบเป็นรายบุคคลผลของการประเมินรายบุคคล   จะมีผลต่อคะแนนความสำเร็จของกลุ่ม
                    3. โอกาสในความสำเร็จเท่าเทียมกัน (Equal opportunities for success ) หมายถึง  การที่นักเรียนได้รับโอกาสที่จะทำคะแนนให้กับกลุ่มของตนได้เท่าเทียมกัน
                    4.  การแข่งขันเป็นทีม (Team  competition ) การเรียนแบบร่วมมือจะมีการแข่งขันระหว่างทีม  ซึ่งหมายถึงการสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นภายในทีม
                    5. งานพิเศษ ( Task  specialization ) หมายถึง  การออกแบบงานย่อยๆ ของแต่ละกลุ่มให้นักเรียนแต่ละคนรับผิดชอบ ซึ่งนักเรียนแต่ละคนจะเกิดความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือกลุ่มของคนให้ประสบผลสำเร็จลักษณะงานจะเป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกันมีการตรวจสอบความถูกต้อง
                    6.  การดัดแปลงความต้องการของแต่ละบุคคลให้เหมาะสม  (Adaptation to individual  needs ) หมายถึง  การเรียนแบบร่วมมือแต่ละประเภทจะมีบางประเภทได้ดัดแปลงการสอนให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละบุคคล
            พิมพ์พันธ์  เดชะคุปต์ ( 2544 : 6) กล่าวถึงลักษณะสำคัญของการเรียนแบบร่วมมือไว้ 6 ข้อดังนี้
            1. องค์ประกอบของกลุ่มประกอบด้วยผู้นำ สมาชิก และกระบวนการกลุ่ม
            2. สมาชิกมีตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
            3. กลุ่มประกอบด้วยสมาชิกที่มีความสามารถทางการเรียนคละกัน เพศคละกัน เชื้อชาติคละกัน
            4. สมาชิกทุกคน ต้องมีบทบาทหน้าที่ชัดเจนและทำงานไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคละกัน
            5. สมาชิกทุก ๆ คนต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน
            6. คะแนนของกลุ่มคือคะแนนที่ได้จากคะแนนสมาชิกแต่ละคนร่วมกัน
            จากการศึกษาลักษณะของการเรียนแบบร่วมมือที่กล่าวมาข้างต้นสรุปได้ว่า  ลักษณะสำคัญของการเรียนแบบร่วมมือเป็นการเรียนที่แบ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ  ประกอบด้วยสมาชิกที่มีความสามารถแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นเพศ     ความสามารถด้านการเรียน   ที่ได้มาทำงานร่วมกันโดยมีเป้าหมายที่จะประสบความสำเร็จร่วมกันมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน   มีการช่วยเหลือกัน  มีความรับผิดชอบต่อตนเองและกลุ่ม   ที่มีกระบวนการทำงานกลุ่มเป็นลำดับขั้นตอนเพื่อช่วยให้การทำงานประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของการเรียนแบบร่วมมือ
            การเรียนแบบร่วมมือเป็นวิธีการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  ทำให้นักเรียนได้ทำงานร่วมกัน  มีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทำให้มีทักษะในการทำงานกลุ่ม  ซึ่งมีนักการศึกษาได้กล่าวถึงประโยชน์ของการเรียนแบบร่วมมือไว้ ดังนี้
            จอห์นสัน และจอห์นสัน(Johnson and Johnson. 1987 : 27-30) กล่าวถึงประโยชน์ของการเรียนแบบร่วมมือไว้ สรุปได้ 9 ประการ ดังนี้
            1. นักเรียนเก่งที่เข้าใจคำสอนของครูได้ดี  จะเปลี่ยนคำสอนของครูเป็นภาษาพูดของนักเรียน  แล้วอธิบายให้เพื่อนฟังได้และทำให้เพื่อนเข้าใจได้ดีขึ้น
            2. นักเรียนที่ทำหน้าที่อธิบายบทเรียนให้เพื่อนฟัง จะเข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้น
            3. การสอนเพื่อนเป็นการสอนแบบตัวต่อตัวทำให้นักเรียน  ได้รับความเอาใจใส่และมีความสนใจมากยิ่งขึ้น
            4. นักเรียนทุกคนต่างก็พยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะครูคิดคะแนนเฉลี่ยของทั้งกลุ่มด้วย
            5. นักเรียนทุกคนเข้าใจดีว่าคะแนนของตน  มีส่วนช่วยเพิ่มหรือลดค่าเฉลี่ยของกลุ่ม ดังนั้นทุกคนต้องพยายามปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้กลุ่มประสบความสำเร็จ
            6. นักเรียนทุกคนมีโอกาสฝึกทักษะทางสังคมมีเพื่อนร่วมกลุ่มและเป็นการเรียนรู้วิธีการทำงานเป็นกลุ่ม  ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากเมื่อเข้าสู่ระบบการทำงานอันแท้จริง
            7. นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการกลุ่ม  เพราะในการปฏิบัติงานร่วมกันนั้นก็ต้องมีการทบทวนกระบวนการทำงานของกลุ่มเพื่อให้ประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน หรือคะแนนของกลุ่มดีขึ้น
            8. นักเรียนเก่งจะมีบทบาททางสังคมในชั้นมากขึ้น  เขาจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้เรียนหรือหลบไปท่องหนังสือเฉพาะตน  เพราะเขาต้องมีหน้าที่ต่อสังคมด้วย
            9. ในการตอบคำถามในห้องเรียน หากตอบผิดเพื่อนจะหัวเราะ แต่เมื่อทำงานเป็นกลุ่ม นักเรียนจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ถ้าหากตอบผิดก็ถือว่าผิดทั้งกลุ่ม คนอื่น ๆ อาจจะให้ความช่วยเหลือบ้าง  ทำให้นักเรียนในกลุ่มมีความผูกพันกันมากขึ้น
            บารูดี (Baroody. 1993 : 2-102) ได้กล่าวถึงประโยชน์ที่สำคัญของการเรียนแบบร่วมมือไว้  ดังนี้
            1. การเรียนแบบร่วมมือช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนเนื้อหาได้ดี
            2. การเรียนแบบร่วมมือช่วยส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการแก้ปัญหา และการให้เหตุผล    แนวทางในการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา  และช่วยให้เกิดการช่วยเหลือกันในกลุ่มเพื่อน 3 แนวทาง คือ
                    1) การอภิปรายร่วมกันกับเพื่อนในกลุ่มย่อยให้นักเรียนได้แก้ปัญหาโดยคำนึงถึงบุคคลอื่น ซึ่งช่วยให้นักเรียนได้ตรวจสอบและปรับปรุงแนวคิดและคำตอบ
                    2) ช่วยให้เข้าใจปัญหาของแต่ละคนในกลุ่ม     เนื่องจากพื้นฐานความรู้ของแต่ละคนต่างกัน
                    3)   นักเรียนเข้าใจการแก้ปัญหาจากการทำงานกลุ่ม
            3.  การเรียนแบบร่วมมือส่งเสริมความมั่นใจในตนเอง
            4. การเรียนแบบร่วมมือส่งเสริมทักษะทางสังคมและทักษะการสื่อสาร
            อาเรนด์ส (Arends. 1994 : 345–346ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการเรียนแบบร่วมมือไว้สรุปได้ 5 ประการ   ดังนี้
            1. ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  การเรียนแบบร่วมมือนี้เป็นการเรียนที่จัดให้นักเรียนได้ร่วมมือกันเรียนเป็นกลุ่มเล็กประมาณ  2 - 6  คน   เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเรียนร่วมกันนับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนในกลุ่มได้แสดงความคิดเห็น     และแสดงออกตลอดจนลงมือกระทำอย่างเท่าเทียมกัน  มีการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  เช่น  นักเรียนที่เก่งช่วยนักเรียนที่ไม่เก่ง  ทำให้นักเรียนที่เก่งมีความรู้สึกภาคภูมิใจ  รู้จักสละเวลา  และช่วยให้เข้าใจในเรื่องที่ดีขึ้น  ส่วนนักเรียนที่ไม่เก่งก็จะซาบซึ้งในน้ำใจเพื่อน  มีความอบอุ่น  รู้สึกเป็นกันเอง  กล้าซักถามในข้อสงสัยมากขึ้น  จึงง่ายต่อการทำความเข้าใจในเรื่องที่เรียน  ที่สำคัญในการเรียนแบบร่วมมือนี้คือ  นักเรียนในกลุ่มได้ร่วมกันคิด  ร่วมกันทำงาน  จนกระทั่งสามารถหาคำตอบที่เหมาะสมที่สุดได้  ถือว่าเป็นการสร้างความรู้ด้วยตนเอง  ช่วยให้ความรู้ที่ได้รับเป็นความรู้ทีมีความหมายต่อนักเรียนอย่างแท้จริง  จึงมีผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น
            2.  ด้านการปรับปรังความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การเรียนแบบร่วมมือเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีภูมิหลังต่างกันได้มาทำงานร่วมกัน    พึ่งพาซึ่งกันและกัน    มีการรับฟังความคิดเห็นกัน    เข้าใจและเห็นใจสมาชิกในกลุ่ม ทำให้เกิดการยอมรับกันมากขึ้น  เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันซึ่งจะส่งผลให้มีความรู้สึกที่ดีต่อผู้อื่นในสังคมมากขึ้น
            3.   ด้านทักษะในการทำงานร่วมกันให้เกิดผลสำเร็จที่ดี  และการรักษาความสัมพันธ์ที่ ดีทางสังคม การเรียนแบบร่วมมือช่วยปลูกฝังทักษะในการทำงานเป็นกลุ่มทำให้นักเรียนไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกับผู้อื่น     และส่งผลให้งานกลุ่มประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายร่วมกัน  ทักษะทางสังคมที่นักเรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้แก่    ความเป็นผู้นำ    การสร้างความไว้วางใจกัน     การตัดสินใจ    การสื่อสาร    การจัดการกับข้อขัดแย้ง    ทักษะเกี่ยวกับการจัดกลุ่มสมาชิกภายในกลุ่มเป็นต้น
            4.    ด้านทักษะการร่วมมือกันแก้ปัญหา  ในการทำงานกลุ่มสมาชิกกลุ่มจะได้รับทำความเข้าใจในปัญหาร่วมกัน  จากนั้นก็ระดมความคิดช่วยกันวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา  เมื่อทราบสาเหตุของปัญหาสมาชิกในกลุ่มก็จะแสดงความคิดเห็นเพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาอภิปรายให้เหตุผลซึ่งกันและกันจนสามารถตกลงร่วมกันได้ว่า    จะเลือกวิธีการใดในการแก้ปัญหาจึงเหมาะสมพร้อมกับลงมือร่วมกันแก้ปัญหาตามขั้นตอนที่กำหนดไว้  ตลอดจนทำการประเมินกระบวนการแก้ปัญหาของกลุ่มด้วย
            5. ด้านการทำให้รู้จักและตระหนักในคุณค่าของตนเอง ในการทำงานกลุ่มสมาชิกกลุ่มทุกคนจะได้แสดงความคิดเห็นร่วมกัน การที่สมาชิกในกลุ่มยอมรับในความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิกด้วยกัน ย่อมทำให้สมาชิกในกลุ่มนั้นมีความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองและคิดว่าตนเองมีคุณค่าที่สามารถช่วยให้กลุ่มประสบผลสำเร็จได้
            กรมวิชาการ (2543 : 45-46) กล่าวถึง ประโยชน์ที่สำคัญของการเรียนแบบร่วมมือ สรุปได้ดังนี้
            1. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิก เพราะทุก ๆ คนร่วมมือในการทำงานกลุ่มทุก ๆ คน มีส่วนร่วมเท่าเทียมกันทำให้เกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียน
            2. ส่งเสริมให้สมาชิกทุกคนมีโอกาสคิด พูด แสดงออก แสดงความคิดเห็น ลงมือกระทำอย่างเท่าเทียมกัน
            3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น เด็กเก่งช่วยเด็กที่เรียนไม่เก่ง ทำให้เด็กเก่งภาคภูมิใจ รู้จักสละเวลา  ส่วนเด็กอ่อนเกิดความซาบซึ้งในน้ำใจของเพื่อนสมาชิกด้วยกัน
            4.  ทำให้รู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น   การร่วมคิด   การระดมความคิด  นำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาร่วมกันเพื่อหาคำตอบที่เหมาะสมที่สุดเป็นการส่งเสริมให้ช่วยกันคิดหาข้อมูลให้มาคิดวิเคราะห์และเกิดการตัดสินใจ
            5.   ส่งเสริมทักษะทางสังคม  ทำให้ผู้เรียนรู้จักปรับตัวในการอยู่ร่วมกันด้วยอย่างมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เข้าใจกันและกัน
            6. ส่งเสริมทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้  สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น
            จากการศึกษาประโยชน์ของการเรียนแบบร่วมมือสรุปได้ว่า ประโยชน์ของการเรียนแบบร่วมมือต่อผู้เรียน  มีทั้งในด้านการมีส่วนร่วมในการเรียน  การมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและการทำให้ผู้เรียนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม  เพราะการเรียนแบบร่วมมือในห้องเรียนเป็นการฝึกให้นักเรียนมีความรับผิดชอบร่วมกัน  มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  รู้จักคิด  รู้จักแก้ปัญหาซึ่งจะทำให้นักเรียนเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในการช่วยพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
เทคนิคที่ใช้ในการเรียนแบบร่วมมือ
            เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือมีอยู่  2  แบบคือ  เทคนิคที่ใช้ตลอดกิจกรรมการเรียนการสอนและเทคนิคที่ไม่ได้ใช้ตลอดกิจกรรมการเรียนการสอน  ในที่นี้ผู้วิจัยสนใจที่จะเลือกใช้เทคนิคที่ไม่ใช้ตลอดกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละชั่วโมงอาจใช้ในขั้นนำ   หรือจะสอดแทรกในขั้นสอนตอนใดก็ได้   หรือใช้ในขั้นสรุป    ขั้นทบทวน  ขั้นวัดผลของคาบเรียนใดคาบเรียนหนึ่งตามที่ครูผู้สอนกำหนดเทคนิควิธีเรียนแบบร่วมมือที่มีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
           1. เทคนิคการพูดเป็นคู่ (Rally robin) เป็นเทคนิควิธีเรียนแบบร่วมมือที่นักเรียนแบ่งเป็นกลุ่มย่อย  แล้วครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พูด ตอบ แสดงความคิดเห็นเป็นคู่ ๆ แต่ละคู่จะผลัดกันพูด และฟังโดยใช้เวลาเท่าๆ กัน (Kagan. 1995 : 35)
            2. เทคนิคการเขียนเป็นคู่ (Rally table) เป็นเทคนิคคล้ายกับการพูดเป็นคู่ ต่างกันเพียงแต่ละคู่ผลัดกันเขียนหรือวาดแทนการพูด (Kagan.  1995 : 35)
                 3. เทคนิคการพูดรอบวง (Round robin) เป็นเทคนิคที่เปิดโอกาสให้นักเรียนในกลุ่มผลัดกันพูด    ตอบ อธิบาย   ซึ่งเป็นการพูดที่ผลัดกันทีละคนตามเวลาที่กำหนดจนครบ 4 คน (Kagan. 1995 : 32-33)
            4.  เทคนิคการเขียนรอบวง (Round table) เป็นเทคนิคที่เหมือนกับการพูดรอบวงแตกต่างกันที่เน้นการเขียนแทนการพูด เมื่อครูถามปัญหาหรือให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น นักเรียนจะผลัดกันเขียนลงในกระดาษที่เตรียมไว้ทีละคนตามเวลาที่กำหนด (Kagan. 1995 : 34-35)
            5. เทคนิคการเขียนพร้อมกันรอบวง (Simultaneous round table) เทคนิคนี้เหมือนการเขียนรอบวง   แตกต่างกันที่เน้นให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มเขียนคำตอบพร้อมกัน (Kagan. 1995 : 35)
            6. เทคนิคคู่ตรวจสอบ (Pairs check) เป็นเทคนิคที่ให้สมาชิกในกลุ่มจับคู่กันทำงาน  เมื่อได้รับคำถามหรือปัญหาจากครู  นักเรียนคนหนึ่งจะเป็นคนทำและอีกคนหนึ่งทำหน้าที่เสนอแนะหลังจากที่ทำข้อที่ 1  เสร็จ  นักเรียนคู่นั้นจะสลับหน้าที่กัน  เมื่อทำเสร็จครบแต่ละ 2 ข้อ แต่ละคู่จะนำคำตอบมาและเปลี่ยนและตรวจสอบคำตอบของคู่อื่น (Kagan.  1995 :  32-33)
            7. เทคนิคร่วมกันคิด (Numbered  heads  together)  เทคนิคนี้แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มด้วยกลุ่มละ  4  คน  ทีมีความสามารถคละกัน  แต่ละคนมีหมายเลขประจำตัว  แล้วครูถามคำถาม หรือมอบหมายงานให้ทำ  แล้วให้นักเรียนได้อภิปรายในกลุ่มย่อยจนมั่นใจว่าสมาชิกในกลุ่มทุกคนเข้าใจคำตอบ  ครูจึงเรียนหมายเลขประจำตัวผู้เรียน  หมายเลขที่ครูเรียกจะเป็นผู้ตอบคำถามดังกล่าว (Kagan.  1995 : 28-29)
            8. เทคนิคการเรียงแถว (Line-ups) เป็นเทคนิคที่ง่าย ๆ โดยให้นักเรียนยืนแถวเรียงลำดับภาพ  คำ  หรือสิ่งที่ครูกำหนดให้  เช่น ครูให้ภาพต่างๆ  แก่นักเรียน  แล้วให้นักเรียนยืนเรียงลำดับภาพขั้นตอนของวงจรชีวิตของแมลง  ห่วงโซ่อาหาร เป็นต้น (Kagan.  1995 : 25)
            9. เทคนิคการแก้ปัญหาด้วยจิ๊กซอ (Jigsaw  problem solving)  เป็นเทคนิคที่สมาชิกแต่ละคนคิดคำตอบของตนไว้  แล้วนำคำตอบของแต่ละคนมารวมกัน  เพื่อแก้ปัญหาให้ได้คำตอบที่สมบูรณ์เหมาะสมที่สุด (Kagan. 1995 : 32-33)
            10. เทคนิควงกลมซ้อน (Inside–outside circle เป็นเทคนิคที่ให้นักเรียนนั่งหรือยืนเป็นวงกลมซ้อนกัน 2 วง  จำนวนเท่ากัน วงในหันหน้าออก  วงนอกหันหน้าเข้า  นักเรียนที่อยู่ตรงกับจับคู่กันเพื่อสัมภาษณ์ซึ่งกันและกัน  หรืออภิปรายปัญหาร่วมกัน  จากนั้นจะหมุนเวียนเพื่อเปลี่ยนคู่ใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่ซ้ำคู่กัน  โดยนักเรียนวงนอกและวงในเคลื่อนไปในทิศทางตรงข้ามกัน ( Kagan.  1995 :  10)
            11. เทคนิคแบบมุมสนทนา (Corners)  เป็นเทคนิควิธีที่ครูเสนอปัญหา และประกาศมุมต่าง ๆ  ภายในห้องเรียนแทนแต่ละข้อ แล้วนักเรียนแต่ละกลุ่มย่อยเขียนหมายเลขข้อที่ชอบมากกว่า และเคลื่อนเข้าสู่มุมที่เลือกไว้ นักเรียนร่วมกันอภิปรายภายในกลุ่มตามมุมต่างๆ หลังจากนั้นจะเปิดโอกาสให้นักเรียนในมุมใดมุมหนึ่งอภิปรายเรื่องราวที่ได้ศึกษาให้เพื่อนในมุมอื่นฟัง (Kagan.  1995 :  20-21)
            12. เทคนิคการอภิปรายเป็นคู่ (Pair discussion) เป็นเทคนิคที่ครูกำหนดหัวข้อหรือคำถาม แล้วให้สมาชิกทีนั่งใกล้กันร่วมกันคิดและอภิปรายเป็นคู่ (Kagan. 1995 : 35 อ้างถึงใน พิมพันธ์ เดชะคุปต์.  2541 : 45)
            13. เทคนิคเพื่อนเรียน (Partners) เป็นเทคนิคที่ให้นักเรียนในกลุ่มจับคู่เพื่อช่วยเหลือนักเรียนในบางครั้งคู่หนึ่งอาจไปขอคำแนะนำ  คำอธิบายจากคู่อื่นๆ ที่คาดว่าจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวดีกว่าและเช่นเดียวกันเมื่อนักเรียนคู่นั้นเกิดความเข้าใจที่แจ่มชัดแล้ว  ก็จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนคู่อื่นๆ ต่อไป (อรพรรณ  พรสีมา. 2540 : 17)
            14. เทคนิคการคิดเดี่ยว คิดคู่ ร่วมกันคิด (Think - pair -  share) เป็นเทคนิคที่เริ่มจากปัญหาที่ครูผู้สอนกำหนดนักเรียนแต่ละคนคิดหาคำตอบด้วยตนเองก่อนแล้วนำคำตอบไปอภิปรายกับเพื่อนที่เป็นคู่  จากนั้นจึงนำคำตอบของแต่ละคู่มาอภิปรายพร้อมกัน 4 คน  เมื่อมั่นใจว่าคำตอบของตนถูกต้องหรือดีทีสุด  จึงนำคำตอบเล่าให้เพื่อนทั้งชั้นฟัง (Kagan.  1995 : 46-47 อ้างถึงใน พิมพันธ์  เดชะคุปต์.  2541 : 41-44)
            15. เทคนิคการทำเป็นกลุ่ม ทำเป็นคู่  และทำคนเดียว (Team - pair - solo) เป็นเทคนิคที่ครูกำหนดปัญหาหรืองานให้แล้วนักเรียนทำงานร่วมกันทั้งกลุ่มจนงานสำเร็จ  จากนั้นจะแยกทำงานเป็นคู่จนงานสำเร็จ  สุดท้ายนักเรียนแต่ละคนแยกมาทำเองจนสำเร็จได้ด้วยตนเอง (Kagan.  1995 : 10 อ้างถึงใน พิมพันธ์  เดชะคุปต์.  2541 : 41-45)
            16. เทคนิคการอภิปรายเป็นทีม (Team discussion) เป็นเทคนิคที่ครูกำหนดหัวข้อหรือคำถาม  แล้วให้นักเรียนทุกคนในกลุ่มร่วมกันระดมความคิด และพูดอภิปรายพร้อมกัน (Kagan. 1995 : 38 อ้างถึงใน พิมพันธ์  เดชะคุปต์.  2541 : 45)
            17. เทคนิคโครงงานเป็นทีม (Team  project) เป็นเทคนิคที่เหมาะสมกับวิชาวิทยาศาสตร์มาก  เทคนิคนี้เริ่มจากครูอธิบายโครงงานให้นักเรียนเข้าใจก่อนและกำหนดเวลา  และกำหนดบทบาทที่เท่าเทียมกันของสมาชิกในกลุ่ม  และมีการหมุนเวียนบทบาท  แจกอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันทำโครงงานที่ได้รับมอบหมาย  จากนั้นจะมีการนำเสนอโครงงานของแต่ละกลุ่ม (Kagan. 1995 :  42-43)
            18. เทคนิคสัมภาษณ์เป็นทีม (Team – interview) เป็นเทคนิคที่มีการกำหนดหมายเลขของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม  แล้วครูผู้สอนกำหนดหัวข้อและอธิบายหัวข้อให้นักเรียนทั้งชั้นสุ่มหมายเลขของนักเรียนในกลุ่มยืนขึ้นแล้วให้เพื่อนๆ ร่วมทีมเป็นผู้สัมภาษณ์และผลัดกันถาม  โดยเรียงลำดับเพื่อนให้ทุกคนมีส่วนร่วมเท่า ๆ กัน เมื่อหมดเวลาตามที่กำหนด  คนที่ถูกสัมภาษณ์นั่งลง  และนักเรียนหมายเลขต่อไปนี้และถูกสัมภาษณ์หมุนเวียนเช่นนี้เรื่อยไปจนครบทุกคน (Kagan. 1995 : 40-41)
            19. เทคนิคบัตรคำช่วยจำ (Color-coded  co-op cards)  เป็นเทคนิคที่ฝึกให้นักเรียนจดจำข้อมูลจากการเล่นเกมที่ใช้บัตรคำถาม  บัตรคำตอบ  ซึ่งนักเรียนแต่ละกลุ่มที่เตรียมบัตรมาเป็นผู้ถาม  และมีการให้คะแนนกับกลุ่มที่ตอบได้ถูกต้อง (Kagan. 1995 : 38)
            20. เทคนิคการสร้างแบบ (Formations) เป็นเทคนิคที่ครูผู้สอนกำหนดวัตถุประสงค์หรือสิ่งที่ต้องการให้นักเรียนสร้าง แล้วให้นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันอภิปรายและทำงานร่วมกันเพื่อสร้างชิ้นงาน  หรือสาธิตงานที่ได้รับมอบหมาย  เช่น  ให้นักเรียนสาธิตว่าฤดูกาลเกิดขึ้นได้อย่างไร  สาธิตการทำงานของกังหันลม  สร้างวงจรของห่วงโซ่อาหาร  หรือสายใยอาหาร ( Kagan.  1995 :  22 )
            21. เทคนิคเกมส่งปัญหา (Send- a-problem) เป็นเทคนิคที่นักเรียนสนุกกับเกมโดยนักเรียนทุกคนในกลุ่มตั้งปัญหาด้วยตัวเองคนละ 1 คำถามไว้ด้านหน้าของบัตรและคำตอบซ่อนอยู่หลังบัตร  นักเรียนแต่ละคนในกลุ่มกำหนดหมายเลขประจำตัว 1-4  เริ่มแรกนักเรียนหมายเลข 4 ส่งปัญหาของกลุ่มให้หมายเลข 1 ในกลุ่มถัดไป  ซึ่งจะเป็นผู้อ่านคำถามและตรวจสอบคำตอบส่วนสมาชิกคนอื่นในกลุ่มตอบคำถามในข้อถัดไปจะหมุนเวียนให้สมาชิกหมายเลขอื่นตามลำดับ คือ นักเรียนหมายเลข 2 เป็นผู้อ่านคำถาม  และตรวจคำตอบจนครบทุกคนในกลุ่ม  แล้วเริ่มใหม่ในลักษณะเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในรอบต่อๆ ไป  (Kagan. 1995 :  36-37)
            22. เทคนิคแลกเปลี่ยนปัญหา (Trade-a-problem)  เป็นเทคนิคที่ให้นักเรียนแต่ละคู่ตั้งคำถามเกี่ยวกับหัวข้อที่เรียนและเขียนคำตอบเก็บไว้จากนั้นให้นักเรียนแต่ละคู่แลกเปลี่ยนคำถามกับเพื่อนคู่อื่น แต่ละคู่จะช่วยกันแก้ปัญหาจนเสร็จ  แล้วนำมาเปรียบเทียบกับวิธีการแก้ปัญหาของเพื่อนเจ้าของปัญหานั้น (Kagan. 1995 : 59)
            23. เทคนิคแบบเล่นเลียนแบบ (Match mine) เป็นเทคนิคที่ให้นักเรียนกลุ่มหนึ่งเรียงวัตถุที่กำหนดให้เหมือนกัน โดยผลัดกันบอกซึ่งแต่ละคนจะทำตามคำบอกเท่านั้นห้ามไม่ให้ ดูกัน วิธีนี้ใช้ประโยชน์ในการฝึกทักษะด้านการสื่อสารให้แก่นักเรียนได้ (Kagan. 1996 : 16)
            24. เทคนิคเครือข่ายความคิด(Team word – webbing) เป็นเทคนิคที่ให้นักเรียนเขียนแนวคิดหลัก       และองค์ประกอบย่อยของความคิดหลักพร้อมกับแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความคิดหลักกับองค์ประกอบย่อยบนแผ่นกระดาษลักษณะของแผนภูมิความรู้ (Kagan. 1995 : 36)
รายการอ้างอิง

โฆษิต  จัตุรัสวัฒนากุล. การเรียนแบบร่วมมือโดยใช้เทคนิคการสอนเป็นกลุ่มที่ช่วยเหลือเป็นรายบุคคลที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการถ่ายโยงความรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2543.
บุญชม  ศรีสะอาด. การวัดเชาว์ปัญญาและความถนัด. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒมหาสารคาม, 2540.
ปรียาพร  วงศ์อนุตรโรจน์. เทคนิคและการสอนอาชีวศึกษา. กรุงเทพฯ : พิมพ์ดี, 2544.
พิมพ์พันธ์  เดชะคุปต์. การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ : แนวคิดวิธีและเทคนิคการสอน2. กรุงเทพมหานคร : สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ, 2544.
ยุทธพงษ์  ไกยวรรณ. เทคนิคและวิธีการสอน. กรุงเทพฯ: ศูนย์สื่อเสริมกรุงเทพมหานคร : พิมพ์ดี, 2541.
วัฒนาพร  ระงับทุกข์. เทคนิคและกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. กรุงเทพฯ ,สำนักพิมพ์พริกหวานกราฟฟิค, 2545.
Kagan, S. Cooperative Learning & Wee Science. San Clemento : Kagan Cooperative Learning, 1995.
________. Cooperative Learning and Mathematics. San Juan Capistrano : Kagan Cooperative Learning, 1996 a.
*******************